วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์กวางสี : ประตูสู่อาเซียนของจีน ตอนที่ 5: Guangxi State Farm ตัวอย่าง"ก้าวออกไป" สู่อาเซียน ของวิสาหกิจจีน

ยุทธศาสตร์กวางสี : ประตูสู่อาเซียนของจีน ตอนที่ 5: 
Guangxi State Farm ตัวอย่าง "ก้าวออกไป" สู่อาเซียน 
ของวิสาหกิจจีน

Guangxi State Farm เป็นรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของจีน (กว่างซี) ที่ออกไปลงทุนในอาเซียนมากที่สุดรายหนึ่งของประเทศ ทั้งในอินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์ และลาว
โครงการลงทุนของ Guangxi State Farm แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การออกไปพัฒนาและจัดตั้งเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าในต่างประเทศ (นิคมอุตสาหกรรม) การนำเทคโนโลยีทางการเกษตรออกไปเผยแพร่พร้อมกับดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร (เพื่อส่งกลับมายังกว่างซี)
อินโดนีเซีย : โครงการเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า
โครงการดังกล่าวเป็น 1 ใน 19 เขตความร่วมมือฯ ในต่างประเทศของกว่างซีที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์จีน และเป็นเขตความร่วมมือฯ แห่งแรกของจีนและกว่างซีในประเทศอินโดนีเซีย
โครงการระยะแรกเป็นการปรับปรุงหน้าดิน ถนน ทางระบายน้ำ และระบบแสงสว่างได้ดำเนินการเสร็จสิ้น โดย Guangxi State Farm ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 87.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีวิสาหกิจจากทั้งในและต่างประเทศ (รวมถึงจีน) จำนวน 19 ราย ได้ลงนามสัญญาเข้าพัฒนาและจัดตั้งกิจการ โดยบางส่วนเริ่มดำเนินการผลิตแล้ว

เวียดนาม : โรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง
เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง ทาง Guangxi State Farm Mingyang Biochemical Group, Inc. (广西农垦明阳生化集团) จึงได้ออกไปลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตแป้งสตาร์ชมันสำปะหลังในประเทศเวียดนาม ซึ่งสอดรับกับคำเชิญชวนของรัฐบาลจังหวัด Binh Dinh ประเทศเวียดนาม
ทางบริษัทฯ ตั้งโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมกวีเญิน (Quy Nhon) โดยโรงงานแห่งนี้เป็นศูนย์รวมวัตถุดิบมันสำปะหลังจาก 3 ประเทศ คือ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งสามารถผลิตแป้งสตาร์ชได้ปีละ 3 แสนตัน และกำลังอยู่ระหว่างขยายงานการก่อสร้างสายการผลิตแป้งโมดิฟายด์สตาร์ช และระบบรองรับสายการผลิตอื่นๆ

พม่า : เพาะปลูก ป่าน(ศรนารายณ์) และมันสำปะหลัง
Guangxi State Farm Sisal Group (广西农垦剑麻集团公司) และบริษัทในประเทศพม่า ได้ร่วมลงนามสัญญาความร่วมมือโครงการปลูกพืชทดแทน โดยทั้ง 2 ฝ่ายดำเนินความร่วมมือพัฒนาโครงการอบรมเทคโนโลยี เพาะปลูก และแปรรูปป่านศรนารายรณ์และมันสำปะหลังในพื้นที่เมือง Lashio ทางตอนเหนือของประเทศพม่า มีเนื้อที่ 2 หมื่นเฮกตาร์ (อย่างละครึ่ง) มูลค่าการลงทุน 124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
บริษัทฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ระดับผู้เชี่ยวชาญไปอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชทั้ง 2 ประเภทในพม่าเป็นประจำทุกปี
ปัจจุบัน ป่านศรนารายรณ์บางส่วนให้ผลผลิตเป็นที่เรียบร้อย และคาดว่าจะเข้าสู่ช่วงที่ให้ผลผลิตได้เต็มที่ในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 58) และในอีก 6-7 ปีข้างหน้าจะได้ผลผลิตเส้นใยป่านมากกว่า 1.5 หมื่นตัน 
ตามรายงาน Guangxi State Farm จะใช้จุดแข็งด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เพื่อบุกเบิกพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตรเชิงทรัพยากรกับอาเซียนอย่างต่อเนื่อง อาทิ (1) ธุรกิจน้ำตาลกับไทย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (2) ธุรกิจมันสำปะหลังกับเวียดนาม ไทย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ (3) ธุรกิจเพาะปลูกทางการเกษตรกับพม่า และลาว (4) ธุรกิจเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์น้ำกับเวียดนาม บรูไน และอินโดนีเซีย และ (5) ธุรกิจพืชผักผลไม้และดอกไม้กับเวียดนาม และไทย
       การดำเนินนโยบาย ก้าวออกไป ของวิสาหกิจจีน (กว่างซี) เป็นการดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาด แม้ว่าประเทศต่างๆ จะได้ประโยชน์จากการที่วิสาหกิจจีนออกไปลงทุน (เม็ดเงินภาษี เทคโนโลยี การจ้างงาน) ทว่าประเทศเหล่านี้กำลังสูญเสียความได้เปรียบ/อำนาจต่อรอง เพราะจีนได้ลดการพึ่งพาจากประเทศคู่ค้า และเป็นผู้คุมเกมส์การค้าทั้งหมด


Resource from:
by นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) (31 พฤษภาคม 2556)



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น