วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เมืองชายแดน ตอนที่ 1 : มุกดาหาร-สะหวันนะเขต จุดเชื่อมต่อ East - West Economic Corridor

ตอนที่ 1 : 
มุกดาหาร-สะหวันนะเขต จุดเชื่อมต่อ Economic Corridor
และสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่สอง



มุกดาหาร เมืองแห่งชายโขง รวมแปดชนเผ่า เลื่องลือมะขามหวาน 
จาก เมืองเล็ก ๆ สงบเงียบริมแม่น้ำโขง "จังหวัดมุกดาหาร และแขวงสะหวันนะเขต" ถูกปลุกให้เข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ทันที หลังจากมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 เป็นต้นมา พร้อมทั้งมีการพัฒนาให้สอดคล้องไปกับเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวัน ออก-ตะวันตก (EWEC)  จังหวัดมุกดาหารมีศักยภาพสูง เนื่องจากตั้งอยู่บนเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เป็นประตูด้านตะวันออกของไทยเชื่อมเข้าสู่ สปป.ลาว และเวียดนามตอนกลาง ขณะที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นประตูด้านตะวันตกที่เชื่อมสู่ประเทศพม่า 

นาย สมศักดิ์ สีบุญเรือง เลขาธิการหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า หลังจากมีการเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประมาณปีละ 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ขยายตัวมากเช่นกัน มีคนไทยประมาณ 1 แสนคน เดินทางไปท่องเที่ยวใน สปป.ลาว และเวียดนาม โดยใช้เส้นทางสัญจรผ่านถนน R9 และในตอนนี้ก็มีการลงทุนใหม่ ๆ เกิดขึ้น และยังสามารถเชื่อมโยงการค้าไปสู่ประเทศจีนได้ด้วย ฉะนั้นระเบียงเศรษฐกิจ EWEC จะเป็นเส้นทางสายไหมยุคใหม่ได้อย่างแน่นอน 


จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันในเขตตัวเมืองมุกดาหารมีการลงทุนใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคการค้าปลีก มีกลุ่มทุนจากกรุงเทพฯเข้ามาปักหลักที่เมืองชายแดนแห่งนี้หลายรายแล้ว เช่น กลุ่มโกลบอลเฮ้าส์ กลุ่มไทวัสดุ รวมถึงห้างบิ๊กซีและแม็คโคร ซึ่งรูปแบบการลงทุนไม่ใช่การขยายตลาดในจังหวัดมุกดาหารเท่านั้น แต่จะใช้มุกดาหารเป็นฐานเพื่อรุกเข้าไปเจาะตลาดในลาวและเวียดนาม

สำหรับ การค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ในปี 2555 มีมูลค่าการค้ารวม 28,678 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 12,006 ล้านบาท และนำเข้า 16,670 ล้านบาท และในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2556 มีมูลค่าการค้า 5,174 ล้านบาท แบ่งเป็นการ

ส่งออก 2,160 ล้านบาท และนำเข้า 3,014 ล้านบาท

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ น้ำมันเบนซิน เหล็กและเหล็กกล้า ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป ผลไม้และของปรุงแต่งจากผลไม้ ผัก ลวดและสายเคเบิล 


สะหวันนะเขต เมืองอุตสาหกรรมหลักของ สปป.ลาว

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว พบว่า จังหวัดมุกดาหารยังไม่มีโครงการพัฒนาที่โดดเด่น ขณะที่ในฝั่งสะหวันนะเขตมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโนขึ้นเป็น ที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากมีการผลักดันมานานเกือบ 10 ปี โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ติดกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 กำลังมีการก่อสร้างร้านค้า อาคารพาณิชย์ และบ้านพักอาศัยอย่างคึกคัก 

วันนี้สะหวันนะเขตเป็นเมืองที่มีธุรกรรมทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับสองรองจากนคร หลวงเวียงจันทน์ เป็นจุดศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังแขวงใกล้เคียง รวมทั้งเวียดนามและไทย และกำลังจะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ของ สปป.ลาว


เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (Savan-SENO Special Economic Zone)
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (Savan-SENO Special Economic Zone) ปัจจุบันมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่โซนซี หรือสะหวันพาร์ค เป็นเขตอุตสาหกรรมและการค้ามีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดนั้น บริษัท สะหวัน แปซิฟิก ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กลุ่มทุนจากประเทศมาเลเซียได้เข้ามาร่วมทุนกับ สปป.ลาว พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 4,000 ไร่ 



ผู้บริหารของบริษัท สะหวัน แปซิฟิก ดี เวลลอปเม้นท์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในโครงการแล้ว จำนวน 32 บริษัท มูลค่าเงินลงทุน 90 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,700 ล้านบาท ได้แก่ นักลงทุนลาว 11 ราย มาเลเซีย 4 ราย ไทย 4 ราย ญี่ปุ่น 3 ราย ฝรั่งเศส 2 ราย ฮอลแลนด์ 2 ราย ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนจากออสเตรเลีย เบลเยียม ฮ่องกง เกาหลี และบริษัทร่วมทุนลาวกับมาเลเซียและญี่ปุ่นอีกแห่งละ 1 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีกลุ่ม AEROWORKS มาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินด้วย ล่าสุดกลุ่มแคนนอนและบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ในเครือโตโยต้าก็เข้ามาตั้งโรง งานที่สะหวันนะเขตเช่นกัน  นอกจากนี้ สะหวันนะเขตยังมีสนามบินภายในประเทศและระหว่างประเทศอยู่ในเมืองไกสอน พมวิหาน โดยมีเที่ยวบินไป-กลับระหว่างสะหวันนะเขต-กรุงเทพฯ และระหว่างสะหวันนะเขต-นครหลวงเวียงจันทน์ 

ในขณะที่ฝั่งมุกดาหาร ยังไม่มีสนามบิน ต้องใช้บริการในจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น ได้แก่ สนามบินนครพนม และสนามบินอุบลราชธานี ล่าสุดมีการผลักดันให้มีการก่อสร้างสนามบินที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เพื่อรองรับการเดินทางในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ มุกดาหาร ยโสธร และอำนาจเจริญ 


รถไฟความเร็วสูงสายสะหวันนะเขต-ลาวบาว


นอกจากนี้ ในส่วนของโลจิสติกส์  ทางสะหวันนะเขตก็มีความคืบหน้าไปมากกว่าประเทศไทย นั่นคือ เมือวันที่ 10 เมษายน 2556 บริษัท Giant Consolidated Ltd. จากประเทศมาเลเซียซึ่งได้รับสัมปทานการบริหารรถไฟความเร็วสูง เส้นทางสะหวันนะเขต-ลาวบาว ชายแดนเวียดนาม ด้วยระยะทาง 220กิโลเมตร เป็นเวลา 50 ปี ได้เซ็นสัญญารับการสนับสนุนเงินกู้จาก สถาบันการเงิน ริช บังโก เบอร์นาส จากประเทศนิวซีแลนด์ เป็นวงเงิน 5000 ล้านเหรียญสหรัฐ


ข้อมูลจากสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ระบุว่า การลงทุนของไทยในแขวงสะหวันนะเขต ได้แก่ 1.กลุ่มไทยฮั้วยางพารา ลงทุนปลูกยางพารา 2.กลุ่มน้ำตาลมิตรผล ปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลในนามบริษัทน้ำตาลมิตรลาว 3.กลุ่มดั๊บเบิล เอ ในนามบริษัทไชโยเอเอลาว รับซื้อและปลูกยูคาลิปตัส และกำลังขอสัมปทานพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 4.บริษัทสะหวันก้าวหน้าการเกษตร ปลูกถั่วลิสงและร้านขายสินค้าพื้นเมืองลาว (ODOP)  5.บริษัท เคพี-นิซเซอิ มิซูกิ ลาว จำกัด ประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลงทุนโดยบริษัท นิซเซอิ มิซูกิ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่น กับบริษัท เคพี จำกัด (จำหน่ายรถยนต์โตโยต้า อะไหล่ และให้บริการ) 6.กลุ่มบริษัท Lao World ลงทุนสร้างศูนย์การค้าและการประชุม SAVAN-ITECC แห่งแรกในเมืองไกสอน พมวิหาน 7.สถานเสริมความงามวุฒิ-ศักดิ์ คลินิก และ 8.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 



นี่คือสถานการณ์การลงทุนในแขวงสะ หวันนะเขต ขณะที่ฝั่งมุกดาหารของไทย รัฐบาลเพิ่งจะมีมติให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดมุกดาหาร นครพนม และหนองคาย และเห็นชอบโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายบ้านไผ่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร นครพนม เพื่อสนับสนุนให้มุกดาหารเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ 

วันนี้ เมืองคู่แฝดทางเศรษฐกิจ "มุกดาหารและสะหวันนะเขต" จึงเริ่มโดดเด่นเป็นที่หมายตาของนักลงทุนไทย-เทศ



Resource from :

https://www.facebook.com/SavanPark?filter=3

ภาพเมืองสะหวันนะเขต





photo by Mr.Phokham phommavong 
                               .....................................................................................................

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น