วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

Thailand : เปิดพื้นที่เส้นทางไฮสปีดเทรนสายระยอง 7สถานี

Thailand : เปิดพื้นที่เส้นทางไฮสปีดเทรน
สายระยอง 7สถานี 
วันที่ 12-13 ก.ย. 2556 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 221 กม. ใน จ.ฉะเชิงเทรา และพัทยา ที่บรรจุใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เงินลงทุน 100,631 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 74,909 ล้านบาท ค่าเวนคืน 4,767 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษา 1,800 ล้านบาท ใช้เวลา 14 เดือนทำผลการศึกษา กำหนดแล้วเสร็จ 1 ก.ย. 2557 คาดว่าเริ่มประมูลปลายปี 2557 แล้วเสร็จในปี 2560
กำหนดจุดจอด 7 สถานี

แหล่งข่าวจากบริษัทที่ปรึกษากล่าวว่า แนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีบางซื่อ มุ่งหน้าไปตามทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านพญาไท มักกะสัน ลาดกระบัง หรือสุวรรณภูมิ ไปตามทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งกำลังดูความเหมาะสมจอดสถานีสุวรรณภูมิหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่คับแคบ อาจต้องหาพื้นที่ใกล้เคียงสถานีลาดกระบังมาสร้างเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารจากแอร์พอร์ตลิงก์มายังรถไฟความเร็วสูง จากนั้นเส้นทางเกาะไปตามแนวรถไฟ ผ่านฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา สิ้นสุดที่ระยอง

“ช่วงสุวรรณภูมิ-ชลบุรี มี 2 ทางเลือก คือไปตามแนวรถไฟเดิม หรือจะตัดเข้าพื้นที่ใหม่ที่ไม่ต้องผ่านฉะเชิงเทรา โดยตัดเข้ามอเตอร์เวย์ชลบุรีสายใหม่แล้วมุ่งหน้าไปยังชลบุรี แต่แนวทางที่ 2 คงจะยาก”

เบื้องต้นจะมี 7 สถานีและใช้สถานีรถไฟเดิม ต่อจากสถานีบางซื่อ เป็นสถานีมักกะสัน สุวรรณภูมิ/ลาดกระบัง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา ระยอง วิ่งด้วยความเร็ว 250 กม./ชม. “เวนคืนที่ดินไม่เยอะเพราะใช้แนวเดิม การรถไฟฯเคลียร์พื้นที่สร้างทางคู่ไปแล้ว มีตัดใหม่ 10 กม.ช่วงมาบตาพุด-ระยอง เพราะไม่มีทางรถไฟ รวมทั้งจะศึกษาไปถึงจันทบุรีและตราด เชื่อมต่อชายแดนกัมพูชาในอนาคตด้วย”

เมืองใหม่ท”แค่ 5 สถานี
แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาจุดที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง คาดว่าพื้นที่เหมาะสมเป็นจุดจอดสถานีและพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีมี 2 วิธีการ คือเวนคืนที่ดินและจัดรูปที่ดิน ประกอบด้วย 1.สถานีฉะเชิงเทรา อยู่ที่สถานีรถไฟเดิม ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา เข้าถึงสะดวก เชื่อมโยงกับถนนสาย 304 การพัฒนาพื้นที่โดยรอบทำได้ง่ายเนื่องจากเป็นพื้นที่ว่าง ห่างจากในเมือง 1 กม. ขนาดพื้นที่ 4 ตร.กม. หรือ 2,500 ไร่ ส่วนวงเงินถ้าใช้วิธีเวนคืนมูลค่าลงทุนอยู่ที่ 29,725 ล้านบาท จัดรูปที่ดินอยู่ที่ 3,023 ล้านบาท

2.สถานีชลบุรี เป็นพื้นที่ใหม่ อยู่ ต.นาป่า อ.เมืองชลบุรี ห่างสถานีรถไฟเดิมไปทางเหนือ 2 กม. จากตัวเมือง 4 กม. และนิคมอมตะนคร 5 กม. การเข้าถึงสะดวก เชื่อมโยงกับถนนสาย 361 และมอเตอร์เวย์ชลบุรี พื้นที่โล่งง่ายต่อการพัฒนา ขนาด 6 ตร.กม. หรือ 3,750 ไร่ เงินลงทุนใช้วิธีเวนคืนอยู่ที่ 66,722 ล้านบาท วิธีจัดรูปที่ดินอยู่ที่ 7,531 ล้านบาท

3.สถานีศรีราชา เป็นพื้นที่ใหม่ อยู่ทิศใต้ของสถานีรถไฟเดิม ต.สุรศักดิ์ เทศบาลนครแหลมฉบัง ห่างเมืองศรีราชา 4 กม. ห่างนิคมแหลมฉบัง 3 กม. ขนาด 6 ตร.กม. หรือ 3,750 ไร่ เงินลงทุนโดยการเวนคืน 54,013 ล้านบาท จัดรูปที่ดิน 5,600 ล้านบาท
จับตาสถานีพัทย“-ระยอง 
4.สถานีพัทยา ใกล้หาดจอมเทียน ห่างสถานีรถไฟพัทยาไปด้านใต้ 8 กม. ตรงข้ามกับโรงแรมแอมบาสซาเดอร์และโอเชี่ยน
มารีน่ายอชต์คลับ เนื่องจากบริเวณโดยรอบเป็นชุมชนหนาแน่นน้อย และพื้นที่โล่ง น้ำไม่ท่วม ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของพัทยา เช่น หาดจอมเทียน การเข้าถึง สะดวก มีเส้นทางหลักคือถนนสุขุมวิทที่ขนานไปกับรถไฟด้านตะวันตก และตอนเหนือของพื้นที่มีถนนท้องถิ่นเชื่อมต่อ ขนาด 9 ตร.กม. หรือ 5,625 ไร่ การลงทุนโดยการเวนคืน 45,930 ล้านบาท จัดรูปที่ดิน 4,233 ล้านบาท

5.สถานีระยอง มี 2 ทางเลือกเนื่องจากยังไม่มีแนวรถไฟ คือ 5.1 อยู่ระหว่างศูนย์กลางเมืองและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ห่างตัวเมือง 4 กม. มาด้านตะวันตก ห่างนิคมมาบตาพุด 1 กม. ตัวเมืองระยอง 4 กม. ขนาด 7 ตร.กม. หรือ 4,375 ไร่ เงินลงทุนถ้าใช้วิธีการเวนคืน 100,652 ล้านบาท จัดรูปที่ดิน 14,444 ล้านบาท

5.2 บริเวณทางตอนเหนือนิคมอุตฯมาบตาพุด 3 กม. ห่างตัวเมืองระยอง 6 กม. ขนาด 9 ตร.กม. หรือ 5,625 ไร่ เงินลงทุนโดยเวนคืน 59,206 ล้านบาท จัดรูปที่ดิน 5,352 ล้านบาท มีความเป็นไปได้ทางเลือกที่ 2 เหมาะสมที่สุด โยธาฯเสนอจัดรูปที่ดิน
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า กรมมีแนวคิดจะพัฒนาพื้นที่โดยรอบทุกสถานีที่เป็นจุดจอดรถไฟความเร็วสูงเพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยเน้นการจัดรูปที่ดินเป็นหลัก
ทั้งนี้สายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง เสนอจุดที่ตั้งพัฒนาให้เกิดเมืองใหม่ที่มีความเหมาะสมทั้งการก่อสร้างงานโยธาและการพัฒนาเมือง โดยให้โยธาธิการแต่ละจังหวัดปรับปรุงผังเมืองรวมมารองรับการพัฒนาด้วย เช่น ชลบุรี ระยอง

“เมืองพัทยาจะเป็นโครงการนำร่องเมืองใหม่ภาคตะวันออกแนวรถไฟความเร็วสูง เพราะมีความพร้อมทั้งการพัฒนาที่หน่วยงานท้องถิ่นจะสร้างโมโนเรลในเมืองลิงก์การเดินทางสะดวกขึ้น ที่สำคัญเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับภาค จำเป็นจะต้องต่อยอดให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น” นายมณฑลกล่าว

Resource from:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น