วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ภูมิภาคอาเซียน “คอร์รัปชั่น” ยังคงเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ

ภูมิภาคอาเซียน “คอร์รัปชั่น” ยังคงเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ

เมื่อวันที่ 2 – 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  ได้มีการประชุมวิชาการ และเสนอผลงานวิจัยในการประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในภาคพื้นยุโรป หรือ European Association for Southeast Asian Studies (EUROSEAS) ซึ่งเริ่มมีการจัดขึ้นตั้งแต่ปี 1992 โดยจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี และในปีนี้เป็นการจัดการประชุมเป็นครั้งที่ 7 โดยจัดขึ้น ณ นครลิสบอล ประเทศโปรตุเกส ในการจัดครั้งนี้มี The Technical University of Lisbon โดย the School of Social and Political Sciences - ISCSP, Lisbon เป็นเจ้าภาพ

การประชุม EUROSEAS นี้ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในการประชุมใหญ่ และสำคัญมากของโลก ที่รวบรวมนักวิชาการ นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิชาการที่เป็นชาวยุโรปจากหลากหลายประเทศที่ศึกษาในด้านต่างๆอันเกี่ยวข้องกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือภูมิภาคอาเซียน  ซึ่งนอกจากนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆในทวีปยุโรปแล้ว ก็ยังเปิดโอกาสให้นักวิชาการจากประเทศต่างๆทั่วโลกที่สนใจในหัวข้ออันเกี่ยวข้องกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเข้าร่วมประชุมและร่วมนำเสนอผลงานวิจัยของตนเองด้วย
การประชุมทางวิชาการของ EUROSEA นี้จะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยมีมหาวิทยาลัยในทวีปยุโรปที่มีความสนใจด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเป็นเจ้าภาพ

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมลักษณะสหสาขาวิชา หรือ Interdisciplinenary ครอบคลุมทุกสาขาทางสายสังคมศาสตร์  เช่น ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา การศึกษา สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่น การเมือง ศิลปะและการละคร วรรณกรรม ปรัชญา สื่อสารมวลชน และ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น  รวมทั้งครอบคลุมการศึกษา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ โดยการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นทั้งหมด 3 วันและแบ่งหัวข้อที่สำคัญไว้ทั้งหมด 9 กลุ่มหัวข้อ เช่น Democracy and Civil Society, Law and Politics, Migration and Identities และ Spiritual and Religions เป็นต้น นอกจากนี้ในแต่ละกลุ่มหัวข้อยังมี panel แยกย่อยอีก รวมทั้งสิ้น 96 panel มีผลงานวิชาการที่มานำเสนอ รวมๆแล้วประมาณกว่า 300 เรื่อง

สำหรับเรื่องที่นำเสนอภายใต้สาขาต่างๆเหล่านี้ก็มีหลากหลายมาก แต่ในหลาย panel มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการคอร์รัปชั่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสำคัญ  บาง panel มีการตั้งหัวข้อเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชั่นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว บาง panel แม้ไม่ได้ตั้งชื่อ panel ที่เกี่ยวพันกับการคอร์รัปชั่นโดยตรง แต่เมื่อเข้าไปฟังแล้วก็พอสรุปได้ว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศแถบภูมิภาคนี้มีต้นตอมาจากการคอร์รัปชั่นนั่นเอง

ผลงานการนำเสนอในการประชุมบางส่วน

ประเทศอินโดนีเซีย

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ช่วงหลังจากที่ประธานาธิบดีซูฮาโตหมดอำนาจลง ได้มีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่น หรือ Corruption Eradication Commission (Komisi Pemberantasan Korupsi, KPK) ขึ้นสำนักงานนี้ค่อนข้างทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการนำตัวผู้กระผิดโดยเฉพาะนักการเมืองเข้ารับโทษจากพฤติกรรมการคอร์รัปชั่น แต่ในระดับท้องถิ่นการปราบปรามคอร์รัปชั่นยังมีปัญหาอยู่มาก เนื่องจากผู้ที่มีหน้าที่หลักในการปราบปรามคือตำรวจและอัยการของจังหวัดนั้นๆซึ่งส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นเช่นกัน แม้ว่าจะมีการจัดตั้งศาลระดับจังหวัดเพื่อปราบปรามการคอร์รัปชั่นในพื้นที่โดยเฉพาะ แต่ศาลดังกล่าวดูเหมือนจะยังทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก เนื่องจากศาลในระดับจังหวัดดังกล่าวยังไม่ได้มีการทำงานรวมกันอย่างบูรณาการ กับสำนักงานระดับจังหวัดของ KPK การแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นในอินโดนีเซียจึงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ก็หวังแต่เพียงภาคประชาชนที่จะเข้ามามีบทบทในการร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป
นอกจากนี้ยังมีผู้นำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นในวงการตำรวจของอินโดนีเซีย ระบบตำรวจของอินโดนีเซียมีลักษณะเป็นการรวมศูนย์คล้ายๆกับบ้านเรา โดยส่วนกลางเป็นผู้ดูแลเรื่องงบประมาณ และแจกจ่ายงบประมาณที่ได้รับไปยังส่วนต่างๆ และสำนักงานต่างๆทั่วประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นงบประมาณส่วนใหญ่ไปไม่ถึงสำนักงานตำรวจระดับท้องถิ่น ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด ตำรวจระดับท้องถิ่นส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนหางบประมาณเข้ามาใช้ในการบริหารงานของตนเอง สาเหตุนี้จึงนำมาซึ่งการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางในวงการตำรวจของอินโดนีเซีย

ประเทศฟิลิปปินส์

ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Benigno Aquino III ซึ่งเป็นลูกชายของนางCorazon Aquino อดีตประธานาธิบดี ได้รับการยอมรับและยกย่องจากประชาชน และ NGO หลายกลุ่มในเรื่องความโปร่งใส รัฐบาลของเขาได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่ขาวสะอาดและปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต นโยบายของ นาย Benigno Aquino นั้นเน้นการตรวจสอบนโยบาย และโครงการที่ได้รับการริเริ่มและดำเนินการโดยรัฐบาลชุดก่อนของ นาง Gloria Macapagal Arroyo เช่น โครงการสร้างระบบขนส่งที่เชื่อมต่อเมืองต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ นาย Benigno Aquino ก็ได้ดำเนินการลงโทษบุคลากรหลายท่านที่ทำงานภายใต้รัฐบาล นาง Arroyo รวมทั้ง ตัวอดีตประธานาธิบดี Arroyo เอง ในข้อหาคอร์รัปชั่นด้วย

แม้ว่าจะมีความพยายามปราบปรามคอร์รัปชั่นโดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าสนใจว่าเศรษฐกิจและการพัฒนาในด้านต่างๆภายใต้การนำชองรัฐบาล นาย Benigno อยู่ในระดับที่ย่ำแย่มาก ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมฟิลิปปินส์ยังไม่ได้รับการแก้ไข เกิดปัญหาการตกงานมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีแต่มลพิษโดยเฉพาะในกรุงมานิลา และปัญหาการขาดประสิทธิภาพของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเทศ เป็นต้น

นักวิเคราะห์ และนักวิชาการหลายท่านจึงตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นได้ แต่การพัฒนาประเทศดูจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญคือรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ทั้งระบบและทุกภาคส่วนจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การตรวจสอบโครงการและนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนเท่านั้น

ประเทศมาเลเซีย

มีผู้นำเสนอบทความได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้ง และปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศโดยกล่าวว่าในการเลือกตั้งของประเทศมาเลเซียนั้นแม้ว่าพรรคการเมืองใหญ่จะมีความมั่นคงและมีแนวโน้มที่จะชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่พรรคการเมืองดังกล่าวยังต้องแสวงหาแหล่งทุนเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง และบริหารพรรค สถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างพรรคการเมืองและภาคธุรกิจซึ่งเป็นนายทุนของพรรค ดังนั้นเมื่อพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งจึงต้องมีการตอบแทนภาคธุรกิจเหล่านั้นโดยการสร้างนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนดังกล่าว

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบปัญหาการทุจริตในภาครัฐของประเทศมาเลเซียกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆก็ดูเหมือนว่ายังอยู่ในภาวะที่ดีกว่าประเทศอื่นๆมากนัก

ปัญหาการคอร์รัปชั่นยังคงเป็นปัญหาสำคัญในประเทศอาเซียนหลายๆประเทศ  รวมทั้งประเทศไทย และปัญหาดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญของการร่วมตัวกันสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมตัวกันทางด้านเศรษฐกิจ หรือ AEC ในปี 2558 นี้  คงต้องรอดูกันต่อไปว่าภาครัฐของประเทศสมาชิกจะมีการดำเนินการร่วมกันอย่างไร  เพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นร่วมกันไม่ใช่ปล่อยให้เป็นการแก้ปัญหาโดยประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น 

Resource from:
ปรับมาจาก
เก็บตกจากการประชุมนานาชาติ ว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (EUROSEAS) โดย พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1374550167&grpid=&catid=03&subcatid=0306

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น