วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาชายแดนทำให้ "เมืองขยาย" แล้วท้องถิ่นจะรองรับอย่างไร?

รถไฟความเร็๋วสูงและการพัฒนาชายแดนทำให้ " เมืองขยาย" แล้ว ท้องถิ่นจะรองรับอย่างไร




ช่วงสองปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ต่างสยายปีกสู่หัวเมืองต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารชุด หมู่บ้านจัดสรร โดยทุนยักษ์ใหญ่จากเมืองกรุง ไม่ว่าจะเป็น เอพี แลนด์แอนด์เฮาส์ แสนสิริ ซีพีพร็อพเพอร์ตี้ รวมถึงร้านค้าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เช่น อินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ ไทวัสดุ โฮมโปร ต่างช่วงชิงที่ดินทำเลทองตามหัวเมืองใกล้ชายแดนเพื่อเปิดโครงการกันอย่างคับคั่ง ยังไม่รวมถึงห้างสรรพสินค้าเครือต่างๆ ที่ทยอยเปิดสาขาใหม่ในต่างจังหวัดกันรายเดือน 

ที่อยู่อาศัยและการบริโภคจำนวนมากดังกล่าวนำมาซึ่งปัญหาใหญ่คือ เมื่อเมืองมีขนาดใหญ่ขึ้น ผู้คนมากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะรองรับไหวหรือ?

ปัญหาอันดับแรกที่หัวเมืองใหญ่เริ่มพบเห็นได้ชัดเจนคือการจราจร 
       โคราช ขอนแก่น อุดรธานี ต้องประสบกับภาวะจราจรติดขัด จากเดิมที่เคยเดินทางข้ามมุมเมืองได้ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง กลับต้องใช้เวลากว่าชั่วโมงไปถึงจุดหมาย ปริมาณรถที่มากขึ้น และการจัดการขนส่งมวลชนที่ล่าช้าของเทศบาลนคร ทำให้ภาวการณ์จราจรทวีความแออัดขึ้น 

แม้ว่าบางหัวเมือง เช่น อุดรธานี ขอนแก่น จะมีโครงข่ายขนส่งมวลชนขนาดเล็กอย่างรถสองแถวสายต่างๆ รองรับ แต่ก็ขาดการจัดการอย่างเป็นระบบ และผู้ประกอบอาชีพขับรถสองแถวก็ลดลง ระยะเวลารอเพิ่มขึ้น ผู้โดยสารก็อยากหารถส่วนตัวมาใช้งาน ยิ่งทำให้รถติดแน่นเข้าไปอีก

ปัญหาอันดับต่อมาคือ กระแสไฟฟ้า
       ด้วยทั้งคอนโดมิเนียมและห้างสรรพสินค้าต่างใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมาก ในขณะที่สถานีจ่ายและทวนกระแสไฟฟ้ายังมีขนาดเท่าเดิม อีกทั้งโรงไฟฟ้าก็ไม่สามารถสร้างเพิ่มได้ด้วยการคัดค้านจากหลายฝ่าย ในภาคอีสานตอนบน ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติน้ำพอง เขื่อนอุบลรัตน์ และที่สำคัญที่สุดคือการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนต่างๆ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งก็ถูกคัดค้านโดยเอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ เช่นกัน โดยกระทรวงพลังงานเปิดเผยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ภาคอีสานเป็นภาคที่เสี่ยงต่อกระแสไฟฟ้าดับเนื่องจากกำลังสายส่งไฟฟ้าไม่เพียงพอเป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะสายส่งที่จังหวัดขอนแก่นและชัยภูมิ

ปัญหาอันดับสามคือ ระบบน้ำ-ทั้งน้ำประปา และการกำจัดน้ำเสีย 
       เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติในภาคอีสานมีจำกัดกว่าภาคอื่น ต้องอาศัยอ่างเก็บน้ำท้องถิ่น ไม่มีลำน้ำขนาดใหญ่เติมน้ำให้ตลอดทั้งปี เมื่อประสบภาวะภัยแล้ง การทำประปาก็จะมีปัญหา และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเป็นหลัก เช่น โรงแรม สระว่ายน้ำ โรงงานผลิตน้ำดื่ม น้ำแข็ง ตลอดจนบ้านเรือนของชุมชนที่อยู่ปลายระบบท่อส่งน้ำประปา นอกจากนี้เมื่อชุมชนเมืองขยายตัว การกำจัดน้ำเสียก็ยุ่งยากขึ้น และอาจก่อมลพิษต่อชุมชนได้หากไม่ได้รับการบำบัดที่ดี ซึ่งต้องใช้ระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ขึ้น

ปัญหาที่น่าเป็นห่วงลำดับสุดท้ายคือ การจัดการขยะ
      ปริมาณขยะจำนวนมหาศาลที่ชุมชนก่อขึ้น ยังหาทางออกได้ยาก เนื่องจากราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้การซื้อที่ดินเปล่ามาทำเป็นพื้นที่ทิ้งขยะมีต้นทุนสูง ส่วนโรงงานเผาขยะก็ก่อมลพิษทางอากาศสูง ชุมชนคัดค้าน ในขณะที่การแยกขยะและรีไซเคิลที่ควรเป็นทางออก ก็ต้องประสบปัญหากับทัศนคติและพฤติกรรมของคนที่ยังไม่เปลี่ยนไปตามรูปแบบการใช้ชีวิตของสังคมเมือง ยังมีการเผาหญ้า เผาขยะเอง รวมถึงร้านขายเศษเหล็กของเก่าต่างๆ ที่มีผลประโยชน์กับขยะที่ไม่ถูกคัดแยกโดยเทศบาล อีกทั้งความโปร่งใสของเทศบาลในงบประมาณการกำจัดขยะยังเป็นที่น่ากังขา มีตัวอย่างให้เห็นจากคดีทุจริตการจัดซื้อที่ทิ้งขยะของเทศบาลนครอุดรธานียังค้างคาอยู่ในชั้นศาล

นักพัฒนา นักธุรกิจ ที่คิดเข้ามาลงทุนในจังหวัดภาคอีสานตอนบนที่กำลังฟู่ฟ่า น่าจะคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงทางโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ และหาทางเตรียมตัวรับมือไว้ล่วงหน้า

ในขณะเดียวกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็น่าจะหาคำตอบให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตจังหวัดมาแต่ดั้งเดิม เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาว่า เอาใจการลงทุนภายนอก จัดเป็นแต่อีเวนต์โฆษณา จนไม่ใส่ใจกับคนภายใน ปล่อยให้น้ำไม่ไหล ไฟดับ ขยะล้นเมือง ต้อนรับประชาคมอาเซียน!


Resource from :
โดย ธีรภัทร เจริญสุข 


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น