วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

World : “หลี่โคโนมิกส์” ยาขมเศรษฐกิจของนายกฯจีน โดย : รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น

World : “หลี่โคโนมิกส์” ยาขมเศรษฐกิจของนายกฯจีน 
โดย : รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น


“หลี่โคโนมิกส์” (Likonomics) เป็นคำเรียกนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนชุดปัจจุบันนำโดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่ “หลี่เค่อเฉียง” (Li Keqiang) 
 ซึ่งเพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งกุมบังเหียนบริหารแดนมังกรเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ของแนวนโยบายหรือทิศทางเศรษฐกิจจีนย่อมจะมีผลกระทบต่อไทย เพราะในขณะนี้ เศรษฐกิจจีนมีความสำคัญยิ่งยวดสำหรับไทย ทั้งด้านการเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนสูงราวร้อยละ 12 ของการส่งออกไทยทั้งหมด การเป็นนักลงทุนต่างชาติในไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทยด้วย ดังนั้น เราจะละเลยหรือจะไม่สนใจว่าพญามังกรจีนจะขยับตัวไปในทิศทางไหนอย่างไรคงจะไม่ได้แล้ว 
บทความในวันนี้ จึงจะมาดูกันว่า นโยบายเศรษฐกิจแบบ “หลี่โคโนมิกส์” มีลักษณะเด่นอะไร และมีความเหมือนหรือต่างกับนโยบายของรัฐบาลจีนชุดก่อนหน้าอย่างไร 
แนวทาง “หลี่โคโนมิกส์” ภายใต้การนำของนายกฯ หลี่เค่อเฉียง ซึ่งมีความรู้ความสามารถและพื้นฐานการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์โดยตรง แถมมีดีกรีสูงถึงระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีนด้วย แนวนโยบายเศรษฐกิจของนายกฯ หลี่จะเป็นอย่างไร เรามาดูกันเลยค่ะ
รัฐบาลจีนชุดนี้มีแนวนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างจากรัฐบาลจีนชุดก่อนหน้าอย่างชัดเจนในหลายด้าน นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างพยายามชี้ลักษณะเด่นของแนวทาง “หลี่โคโนมิกส์” ไว้หลายแง่มุม ดิฉันจะขอสรุปแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ดังนี้ (1) การไม่ทุ่มงบกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเสี่ยสั่งลุย (2) การยอมเจ็บตัวกับภาวะสภาพคล่องตึงตัวในตลาดเงิน และ (3) การเน้นปฏิรูปปรับเปลี่ยนโครงสร้างและโมเดลเศรษฐกิจจีนในรูปแบบใหม่ที่ลดการพึ่งพาภาคต่างประเทศ
เริ่มจากลักษณะเด่นประการแรก รัฐบาลจีนชุดนี้ไม่ได้มุ่งใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวและไม่ละเลงงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป แต่จะหันมาเน้นการเติบโตในเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เป็นเพียงการเติบโตเชิงปริมาณมีแต่ตัวเลขที่สวยหรู โดยตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจจีดีพีจีนเฉลี่ยต่อปีไว้ที่ร้อยละ 7.5 
ที่สำคัญ เพื่อลดปัญหาช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนในเขตเมืองและชนบทที่ถ่างกว้างมากขึ้น รัฐบาลของนายกฯ หลี่ จึงหันมาใช้มาตรการกระจายความเจริญและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะนโยบายสร้างความเป็นเมืองให้กับชนบท (Urbanization) และมุ่งกระจายทรัพยากรทางการเงินไปสู่ชนบทจีนในระดับรากหญ้า รวมทั้งการตั้งเป้าหมายที่จะให้ชาวจีนทุกคนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี (GDP per capita) เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวภายในปี 2020 
นอกจากนี้ แนวทาง “หลี่โคโนมิกส์” จะไม่ส่งเสริมการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาลท้องถิ่นจีน แต่กลับทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับรัฐบาลชุดก่อนหน้า โดยการหันมาเข้มงวดและส่งสัญญาณเชิงเตือนให้รัฐบาลท้องถิ่นมือเติบของจีนต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและหยุดการทุ่มงบโครงการก่อสร้างต่างๆ จนเกิดภาวะอุปทานล้นเกิน 
ที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลจีนชุดเก่าได้นำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้ในช่วงวิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 สูงถึง 4 ล้านล้านหยวน จนทำให้มีสภาพคล่องในจีนล้นเกินส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นจีนสนุกสนานเพลิดเพลินกับการกู้ยืมมาแข่งขันกันลงทุนก่อสร้างสารพัดโครงการ ทั้งการสร้างถนน สะพาน สนามบิน ทางรถไฟ และตึกสูงระฟ้า เป็นต้น จนสร้างภาระหนี้ล้นพ้นตัวให้กับรัฐบาลท้องถิ่นจีนเหล่านั้น
จากรายงานจนถึงปี 2010 หนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่นจีนมียอดสูงถึง 10.7 ล้านล้านหยวน โดยมีหนี้ค้างชำระเป็นสัดส่วนสูง จากตัวเลขล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เฉพาะหนี้ของรัฐบาลมณฑลและท้องถิ่น 18 แห่งของจีนรวมกันมีมูลค่าสูงราว 3.85 ล้านล้านหยวน ซึ่งขยายมูลค่าหนี้เพิ่มถึงร้อยละ 13 จากในสองปีก่อนหน้า และจากยอดหนี้ค้างชำระทั้งหมดนั้นเกือบครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ใหม่ที่ก่อขึ้นภายหลังจากปี 2011 
นายกฯ หลี่จึงมีความกังวลต่อความสามารถในการชำระเงินคืนของรัฐบาลท้องถิ่นเหล่านั้น และปัญหาการขาดความโปร่งใสในขั้นตอนของการกู้ยืมเงิน ล่าสุด ได้มีคำสั่งให้สำนักงานตรวจเงินแห่งชาติของจีนทำการตรวจสอบบัญชีหนี้ของรัฐบาลทุกระดับ เพื่อรับมือกับปัญหาความเสี่ยงภาคการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป
ลักษณะเด่นของแนวทาง “หลี่โคโนมิกส์” ประการต่อมา คือ การจงใจยอมให้มีสภาพคล่องตึงตัวในตลาดเงิน โดยธนาคารกลางของจีนใจเย็นที่จะไม่เข้ามาแทรกแซงตลาด กลับปล่อยให้เกิดสภาพคล่องตึงตัว แม้จะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมพุ่งขึ้น แต่เป็นความตั้งใจเพื่อกดดันและบีบให้หลายฝ่ายของจีนหยุดพฤติกรรมเก็งกำไร และเพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นจีนลดการใช้จ่ายเกินตัว (แม้ว่าต่อมา ธนาคารกลางจีนได้ผ่อนคลายจุดยืนที่แข็งกร้าวลงบ้าง เนื่องจากไม่ต้องการปล่อยให้เกิดภาวะสภาพคล่องหดตัวนานเกินไปจนมีผลให้เศรษฐกิจจีนต้องชะลอตัวมากเกินไป) 
รัฐบาลจีนชุดนี้เลือกที่จะไม่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะไม่ต้องการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนขยายตัวไปกว่านี้ รวมทั้งปัญหาตลาดสินเชื่อที่ร้อนแรงของจีน โดยเฉพาะปัญหาคาราคาซังในการปล่อยกู้นอกระบบของจีนหรือที่เรียกว่า “ธนาคารเงา” ในจีน มีรายงานว่า การปล่อยกู้นอกระบบในจีนอาจมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของจีดีพีจีน และคิดเป็นร้อยละ 80 ของการปล่อยกู้ในภาคธนาคารพาณิชย์จีน นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นของจีนหลายแห่งที่มีปัญหาในการขอสินเชื่อก้อนใหม่จากธนาคารทั่วไปก็ได้หันไปหาช่องทางการปล่อยกู้นอกระบบด้วยเช่นกัน
นายกฯ หลี่ เคยประกาศชัดว่า “แนวทางเศรษฐกิจจีนต่อจากนี้จะผลักดันการปฏิรูปมากกว่าจะเน้นส่งเสริมการเติบโต และจะพยายามจัดการปัญหาหนี้สินจำนวนมากของรัฐบาลท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการเงินโลก พร้อมกับเข้าควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ” โดยยืนยันที่จะไม่ใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนที่กำลังเริ่มชะลอตัว ตราบเท่าที่ยังไม่มีปัญหากระทบถึงอัตราคนว่างงานในจีน 
การยอมให้มีสภาพคล่องตึงตัวในตลาดเงิน และยังคงใจเย็นต่อการชะลอของการขยายตัวของสินเชื่อ ไม่ยอมอัดฉีดสภาพคล่องใหม่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนชุดนี้ จึงแตกต่างจากนโยบายของรัฐบาลจีนชุดก่อนอย่างชัดเจน 
ประการสุดท้าย แนวทาง “หลี่โคโนมิกส์” เน้นปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในรูปแบบใหม่โดยจะลดการพึ่งพาภาคการส่งออกซึ่งมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และหันมาเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศ พร้อมกับให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อยืนอยู่บนขาของตัวเอง จากตัวเลขล่าสุด นับว่า รัฐบาลจีนประสบความสำเร็จในการลดสัดส่วนของการส่งออกต่อจีดีพีของจีนลงเหลือเพียงร้อยละ 26
นอกจากนี้ ยังหันมาเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่งเสริมคนจีนในระดับรากหญ้า และมีการปรับทิศทางและรูปแบบของการช่วยเหลือภาคการผลิต ตัวอย่างเช่น ล่าสุด รัฐบาลนายกฯ หลี่ได้ออกมาตรการใหม่เพื่อสนับสนุนกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการขนาดย่อม และการลดค่าธรรมเนียมผู้ส่งออก รวมทั้งการจูงใจนักลงทุนเอกชนให้เข้าร่วมลงทุนในโครงการเครือข่ายรางรถไฟ ตลอดจนการออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนในการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคด้วย 
จากการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีการดำเนินงานของธุรกิจ SMEs ขนาดย่อม (กิจการที่มียอดขายต่อเดือน ต่ำกว่า 20,000 หยวน) คาดว่า จะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs รายย่อยของจีนที่มีมากกว่า 6 ล้านราย และมีการจ้างงานในกิจการรายย่อยเหล่านี้มากถึง 10 ล้านคน โดยจะเริ่มใช้มาตรการงดเว้นภาษีเหล่านี้ในเดือนสิงหาคม ปีนี้ 
ส่วนด้านการลดค่าธรรมเนียมผู้ส่งออก รัฐบาลจีนจะลดค่าธรรมเนียมในการจัดการให้กับผู้ส่งออก และยกเลิกค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกลดขั้นตอนและกระบวนการอนุญาตให้ง่ายขึ้น อีกทั้งปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบทางศุลกากรให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า มาตรการล่าสุดของทางการจีนที่เน้นกลุ่ม SMEs นับเป็นการให้การช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มอย่างชัดเจนและยังเป็นการจำกัดขอบเขตขนาดของการช่วยเหลือ มิใช่การทุ่มงบกระตุ้นเศรษฐกิจจีนแบบเหมาเข่งดังเช่นมาตรการของรัฐบาลจีนชุดก่อน
โดยสรุป แนวทาง “หลี่โคโนมิกส์” เป็นเสมือนยาขมของจีนที่ต้องยอมลำบากในวันนี้ เพื่อผลดีในภายหน้า เป็นการยอมเจ็บตัวระยะสั้นเพื่อปรับสมดุลระยะยาว จึงเป็นความตั้งใจที่จะเติบโตช้าหน่อยแต่จะเติบโตอย่างยั่งยืนในรูปแบบโมเดลใหม่เน้นพึ่งการบริโภคของตนเองมากกว่ายืมจมูกต่างประเทศหายใจ รัฐบาลจีนชุดนี้จึงยังคงใจเย็นให้เวลากับการปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และใช้ความอดทนต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวยอมเติบโตช้าลง เพื่อใช้โอกาสนี้ปรับโมเดลเศรษฐกิจหันมาเน้นการบริโภคภายในประเทศอย่างยั่งยืนนั่นเองค่ะ

Resource from:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น