ศูนย์โลจิสติกส์สินค้าเกษตรระหว่างประเทศไฮพีเรียนกว่างซี
(Guangxi Hyperion International Agricultural Logistic Center,
广西海吉星农产品国际物流中心)
ศูนย์โลจิสติกส์สินค้าเกษตรระหว่างประเทศ ไฮพีเรียนกว่างซี มีบริษัท Shenzhen Agricultural products (深圳市农产品股份有限公司) เป็นนายทุน
ด้วยทุนจดทะเบียน 150 ล้านหยวน (ประมาณ 750 ล้านบาท) เมื่อเดือน ส.ค. 54 ที่ผ่านมา ไฮพีเรียน ได้ประกาศรีแบรนด์และเปิดตัวโลโก้ใหม่ของบริษัทฯ
ภายใต้คอนเซปต์ “สีเขียว - ปลอดภัยและรักษ์สิ่งแวดล้อม” โดยได้เปลี่ยนชื่อตัวเองด้วย จาก ไฮพีเรียน
เป็น “ไฮกรีน” (HIGREEN) โดยได้วางตำแหน่งตัวเองให้เป็นตลาดขายส่งสินค้าเกษตรที่มีความทันสมัยแห่งใหม่ของนครหนานหนิง
โดยมีเป้าหมายเพื่อมาแทนตลาดค้าขายส่งผักและผลไม้เดิมๆ ของนครหนานหนิง
รวมถึงการเป็นศูนย์กระจายผลไม้อาเซียนไปยังพื้นที่อื่นๆ ของจีน
ไฮกรีน ตั้งอยู่บนพื้นที่
252.5 ไร่ (ประมาณ 606 หมู่จีน) มีพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 5.2 แสน ตร.ม.
และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 1,340 ล้านหยวน แผนการก่อสร้างไฮกรีน
แบ่งออกเป็น 3 เฟส โดย เฟสแรก ซึ่งประกอบด้วยเขตการค้าพืชผักและผลไม้ และเขตผลไม้นำเข้าอาเซียน
บนเนื้อที่ประมาณ 62.5 ไร่ (150 หมู่จีน) เปิดดำเนินการแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20
มิ.ย. 2554 จากการสัมภาษณ์ คุณ Yu
Shaoping รองผู้จัดการใหญ่ตลาดไฮกรีน ตลอดจนพ่อค้าขายผลไม้ไทยชาวจีนที่ขายส่งอยู่ที่ตลาดไฮกรีนด้วย
จึงขอถ่ายทอดข้อมูลต่างๆ ในรูป Q&A มา ณ ที่นี้
Q: ตั้งแต่เปิดดำเนินการจนถึงปัจจุบัน ผลประกอบการของไฮกรีนเป็นอย่างไร?
A: ในหนึ่งวัน ตลาดฯ
มีปริมาณซื้อขายผักและผลไม้เฉลี่ย 2,500 ตัน
โดยมีรถบรรทุกสินค้าขนาด 20 ตันผ่านเข้า-ออกเฉลี่ยวันละ 100-150 คัน ทั้งนี้
ในช่วงพีค อาทิ เทศกาลต่างๆ ปริมาณการซื้อขายเคยสูงถึงวันละ 5,660 ตัน และมีรถบรรทุกผ่านเข้าออกถึง 300 คันต่อวัน
Q: ผลไม้ส่วนใหญ่ในตลาดไฮกรีนมากจากไหน?
A: มาจาก 2 แหล่ง คือ
ผลไม้ภายในประเทศ และผลไม้นำเข้า
ผลไม้ในประเทศ
มีทั้งผลไม้ท้องถิ่นกว่างซี (อาทิ ลิ้นจี่ ลำไย ส้มโอ กล้วย) และผลไม้จากต่างมณฑล
เช่น องุ่น แคนตาลูป สาลี่หอมจากซินเจียง แอปเปิ้ลจากมณฑลซางตง ส่านซี ซานซี และกานซู่
ส้มจากมณฑลเจียงซี ลูกแพรจากมณฑลอันฮุย และพุทราเขียวจากมณฑลเหอเป่ย
สำหรับผลไม้นำเข้า
ส่วนใหญ่มาจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเข้ามาทางด่านผู่จ้าย
(จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนจีน-เวียดนาม) อำเภอระดับเมืองผิงเสียง เมืองฉงจั่ว เขตฯ
กว่างซีจ้วง อาทิ แก้วมังกรเวียดนาม และมังคุดไทย
(ซึ่งต้องลงทะเบียนผ่านด่านผู่จ้ายในฐานะมังคุดเวียดนาม) ซึ่งเคยเข้ามาที่ตลาดฯ
สูงสุดถึง 20 คันรถในหนึ่งวัน คิดเป็นน้ำหนักราว 400 ตัน ขณะที่ลำไยและทุเรียนไทย
ส่วนใหญ่รับต่อมาจากตลาดเจียงหนานของนครกว่างโจว
นอกจากนี้ ยังมีผลไม้เมืองหนาวจากยุโรป อเมริกา แคนาดา และนิวซีแลนด์
ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการรับต่อจากตลาดเจียงหนานของนครกว่างโจวเช่นกัน
Q: ผลไม้อาเซียน มีวิธีการขนส่งมาที่ตลาดไฮกรีนอย่างไร?
A: โดยทั่วไป ผลไม้ต่างประเทศ
รวมถึงผลไม้อาเซียน เข้ามาในตลาดของประเทศจีนได้ 3 ทาง คือ ทางเครื่องบิน ทางเรือ
และทางรถยนต์ โดยหากเป็นการนำเข้ามาทางเครื่องบินและเรือ
ส่วนใหญ่จะตรงไปที่ตลาดเจียงหนานของนครกว่างโจว ก่อนจะถูกกระจายต่อไปสู่พื้นที่ต่างๆ
ของจีน รวมถึงตลาดไฮกรีน
ซึ่งจะมีพ่อค้าไปรับซื้อผลไม้ต่างประเทศจากตลาดเจียงหนานมาขายต่อ
ในส่วนของผลไม้อาเซียนที่พ่อค้าในตลาดไฮกรีนนำเข้าทางรถยนต์
ส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้จากไทยและเวียดนาม
ในกรณีของผลไม้ไทย
นั้น จะถูกลำเลียงเข้ามาทางด่านผู่จ้าย (ด่านการค้าชายแดนจีน-เวียดนาม) โดยเป็นการนำเข้าในนามสินค้าเวียดนาม กล่าวคือ ผลไม้จะถูกส่งออกจากภาคอีสานของไทยโดยรถบรรทุก
ซึ่งวิ่งมาตามเส้นทางถนนต่างๆ ที่เชื่อมระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม-กว่างซี (R9 R8 และ R12) โดยในการขนส่ง
มีการเปลี่ยนตู้สินค้า 2 ครั้ง ครั้งแรก ในช่วงจากไทยเข้าเวียดนาม และครั้งที่สอง
ในช่วงจากจากเวียดนามเข้าจีน (พูดง่ายๆ ก็คือ
มีพ่อค้าคนกลางชาวไทยหรือเวียดนามหรือจีน รับซื้อผลไม้จากชาวสวนหรือนายหน้าในไทย
แล้วส่งผลไม้เหล่านั้นมาขายต่อในตลาดเวียดนามหรือจีน)
รถบรรทุกที่ใช้ขนส่งผลไม้ไทย
มีอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทแรก รถที่มีตู้รักษาอุณหภูมิความเย็น หรือที่เรียกว่า “ตู้รีฟเฟอร์” (Reefer container) ซึ่งผลไม้จะได้รับการบรรจุอย่างดีในลังพลาสติกสีแดง และ ประเภทที่สอง
รถร้อนหรือรถบรรทุกที่มีกระบะธรรมดาๆ ซึ่งในช่วงการขนส่ง
ผลไม้จะถูกบรรจุในลังพลาสติกหนัก 40-50 กิโลกรัม โดยในแต่ละลัง
จะมีอัดน้ำแข็งไว้ด้านบน เพื่อรักษาความสดของผลไม้
Q: อาเซียนกับจีนได้จัดตั้งเขตการค้าเสรีร่วมกันแล้ว
ซึ่งทำให้ผลไม้หลายชนิดของไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเมื่อเข้าสู่ตลาดจีน
ทำไมผู้ประกอบการที่ตลาดไฮกรีนถึงเลือกที่จะนำเข้าผลไม้ไทยทางด่านชายแดน (ผู่จ้าย)
ไม่ใช้ด่านโหยวอี้ (ซึ่งอยู่ห่างจากผู่จ้ายไม่กี่ กม.) ซึ่งเป็นด่านสากล
A: ผู้ประกอบการนิยมใช้ด่านผู่จ้าย
เพราะมีขั้นตอนที่สะดวกรวดเร็วมากกว่า และมีต้นทุนที่ถูกกว่า
(ด่านผู่จ้ายเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ประมาณ 15 หยวนต่อลังพลาสติก 25 กก.
ขณะที่การนำเข้าผ่านด่านโหยวอี้ แม้ว่าจะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร
แต่ผู้นำเข้ายังต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 13 ของราคาประเมิน)
ตลอดจนมีการคุ้นเคยกับการทำการค้าชายแดนมานาน
Q: ลูกค้าของผู้ประกอบการในไฮกรีนคือใคร?
A: ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ขายที่รับผลไม้ไปขายต่อภายในตลาดกว่างซี
ขณะที่ส่วนหนึ่งของผลไม้เวียดนามและไทย อาทิ แก้วมังกร และมังคุด
ที่ค้าขายกันอยู่ในไฮกรีน จะถูกกระจายต่อไปยังมณฑล/พื้นที่ข้างเคียง เช่น หูหนาน
กุ้ยโจว จ้านเจียง (มณฑลกว่างตง) และไห่หนาน
อย่างไรก็ดี
หากเทียบกับตลาดเจียงหนานในนครกว่างโจวในฐานะที่เป็นจุดกระจายผลไม้แล้ว
การกระจายสินค้าจากไฮกรีนไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกกว่างซี ยังคงมีปริมาณน้อยอยู่มาก
ไฮกรีน มีผู้ประกอบการเป็นอยู่กว่า 6,530 ราย
กระจายกันอยู่ทั่วกว่างซี นอกจากนี้ บริษัทที่ให้บริการส่งผลไม้ให้กับซุปเปอร์มาเก็ต
6 รายใหญ่ในกว่างซี (วอล์มาร์ท เป่ยจิงฮวาเหลียน หนานเฉิงป่ายฮั่ว)
ก็ได้เข้ามาจับจองพื้นที่ในไฮกรีนแล้ว
Q: ไฮกรีนมีนโยบายพิเศษใดๆ หรือไม่
เพื่อดึงดูดให้ตลาดฯ เป็น Hub หรือจุดกระจายผลไม้อาเซียน
A: ไฮกรีน มีโปรโมชั่น “ฟรีค่าเช่าพื้นที่
1 ปี” เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการจากที่ต่างๆ
รวมถึงผู้ประกอบการจากประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้
ไฮกรีนก็ยังคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ ในราคาที่ต่ำ อาทิ คิดค่าจอดรถบรรทุกเพียง 100
หยวน/คัน/การผ่านเข้าออก (ตลาดเจียงหนานในนครกว่างโจว คิดค่าจอด 200 หยวน/คัน/ระยะเวลาที่กำหนด)
Q: ไฮกรีนแตกต่างจากตลาดจินเฉียว
(ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรอีกแห่งของนครหนาน หนิง) อย่างไร?
A: จุดเด่นที่สำคัญของไฮกรีน
คือ ทำเลที่ตั้งที่อยู่ในศูนย์กลางของเส้นทางคมนาคมขนส่ง กล่าวคือ ไฮกรีนตั้งอยู่ใกล้ตลาดอู๋หลี่ถิง
(Wuliting
Vegetable Wholesale Market, 五里亭蔬菜批发市场)
ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเก่าแก่ของนครหนานหนิง เพียง 5 กม. (พ่อค้าแม่ค้าในตลาดอู๋
หลี่ถิงกว่าร้อยละ 97 จะย้ายมาตั้งร้านค้าในไฮกรีนเร็วๆ นี้)
ขณะที่ตลาดจินเฉียวอยู่ห่างจากตลาดอู๋หลี่ถิงถึง 20 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ไฮกรีนตั้งอยู่ติดถนนวงแหวนรอบนอกที่หนึ่งซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมสู่มณฑลข้างเคียงได้สะดวกรวดเร็ว
อยู่ใกล้สถานีรถไฟสายใต้ อยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงเพียง 20
นาที รวมถึงใกล้ด่านพรมแดนจีน-เวียดนาม
.....จากการลงพื้นที่ดูงาน มีข้อสังเกตและให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการค้าผลไม้ไทยในตลาดจีน
รวมถึงตลาดกว่างซี ดังนี้
หนึ่ง รัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน
โดยเฉพาะรัฐบาลระดับมณฑลของเขตฯ กว่างซีจ้วง มีเป้าหมายที่เหมือนกัน คือ
ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ถนนที่เชื่อมระหว่างภาคอีสานของไทยกับกว่างซีของจีนในเชิงพาณิชย์
พูดง่ายๆ ก็คือ ใช้เพื่อส่งสินค้าและการท่องเที่ยว โดยในส่วนของไทย
ก็มีการผลักดันให้ใช้เส้นทางดังกล่าวเพื่อขนส่งผลไม้จากไทยไปจีน
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน เป้าหมายการใช้ถนน R9
(มุกดาหาร-ด่านโหยวอี้กวานของกว่างซี) เพื่อส่งผลไม้ไทย กำลังเจอปัญหาใหญ่
เพราะในช่วงครึ่งแรกของปี 54 กว่างซีนำเข้าผลไม้ไทยทางด่านโหยวอี้กวาน ศูนย์บาท!!!!!!!!! ทั้งๆ ที่ปี 2553 ไทยใช้เส้นทางดังกล่าวส่งผลไม้ไปจีน ประมาณ 3
ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 90 ล้านบาท) น้ำหนักรวม
2.43 ล้าน กก.
สอง ขณะที่การขนส่งผลไม้ไทยผ่านด่านโหยวอี้กวาน
ซึ่งเป็นด่านสากล ลงลดจนเหลือศูนย์ แต่ผลไม้ไทยกลับถูกลำเลียงเข้าจีนอย่างคึกคัก
(ในฐานะสินค้าเวียดนาม) ผ่านด่านผู่จ้าย ซึ่งเป็นด่านการค้าชายแดนจีน-เวียดนาม
(ซึ่งไม่มีการบันทึกสถิติอย่างเป็นทางการ) ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ
(1) เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน
จีนให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ชาวชายแดนในการขนส่งสิ่งของผ่านด่านชายแดน
(ไม่เก็บภาษีใดๆ ทั้งภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม)
หากเป็นการขนส่งสิ่งของที่มีมูลค่าไม่เกิน 8,000
หยวนต่อวันต่อคน (ประมาณ 40,000 บาท)
ทั้งนี้ ตามคำบอกเล่า หากเป็นการขนส่งผลไม้เชิงพาณิชย์ จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการผ่านแดนไม่มากนัก
(ผู้ประกอบการเรียกค่าธรรมเนียมดังกล่าวว่า “ภาษีท้องถิ่น”) กล่าวคือ 15 หยวนต่อหนึ่งตระกร้าผลไม้ที่มีน้ำหนัก 25 กก.
หรือเรียกเก็บแบบเหมาจ่าย 1,000 –2,000 หยวนต่อคันรถ (ขึ้้นอยู่กับชนิดของผลไม้)
(2)
การดำเนินพิธีการผ่านแดนของสินค้าบริเวณด่านผู่จ้ายมีความสะดวกรวดเร็วมากกว่าด่านโหย่วอี้กวาน
(จากคำบอกเล่า...ที่ด่านผู่จ้าย
มีบริษัทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าผ่านแดนจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์พิเศษ (“กวนซี”) กับศุลกากร
หน่วยงานตรวจสอบคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรค (CIQ)
และสำนักงานภาษีท้องถิ่น ซึ่งทำให้การส่งสินค้าผ่านแดนเป็นไปอย่างสะดวกโยธิน)
(3) ด่านโหย่วอี้กวาน ตั้งราคาประเมินกลาง (ซึ่งเป็นฐานของการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งจีนเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 13 สำหรับผลไม้สด) ของผลไม้ไทยไว้สูง
ทำให้ต้นทุนสูงตามไปด้วย อาทิ มังคุดไทย 1 กก. มีราคาประเมินประมาณ 22 หยวน
ดังนั้น จึงถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 3 หยวน/กก. (หรือเท่ากับ 75 หยวนต่อตะกร้าน้ำหนัก 25 กก.
ซึ่งต่างจากการเข้าทางด่านผู่จ้ายที่เสียค่าธรรมเนียม 15 หยวนต่อหนึ่งตะกร้า)
สาม พ่อค้าคนกลางชาวเวียดนามมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการค้าขายผลไม้ระหว่างไทยกับกว่างซี
โดยจากคำบอกเล่า... มีพ่อค้าแม่ขายชาวเวียดนามจำนวนมากไป “ตกเขียว” ผลไม้ไทยถึงหน้าสวนก่อนนำไปคัดแยกในเวียดนาม
เพื่อขายในตลาดเวียดนาม และขายต่ออีกทอดหนึ่งมายังตลาดกว่างซี
ในประเด็นนี้ หากดูเผินๆ ไทยเราก็ไม่น่าจะเสียประโยชน์อะไร เพราะอย่างไรก็ตาม
ผลไม้ไทยก็ถูกส่งออกไปยังตลาดจีนอยู่ดี และชาวสวนไทยก็ขายผลไม้ได้
ไม่ว่าพ่อค้าคนกลางจะเป็นคนสัญชาติใด เพียงแต่มังคุดไทยต้องเปลี่ยนจากการสวม “ชฏา” ในฐานะสินค้าของไทยไปใส่ “อ๋าวหญ่าย” ตอนผ่านแดนเข้าจีน
ในฐานะสินค้าของเวียดนามแทน
แต่หากพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้ว
การกระทำดังกล่าวได้ส่งผลกระทบมากมายต่อสถานการณ์ผลไม้ไทยในจีน
โดยเฉพาะในตลาดกว่างซี
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสูญเสียตัวเลขทางการค้าระหว่างไทย-จีน
การสูญเสียสถานะของผลไม้ไทยในตลาดจีน ตลอดจนภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทย
สี่ ช่องโหว่ของการค้าชายแดนจีน-เวียดนาม ซึ่งคนชายแดนเองเขาก็ยอมรับว่าเป็น “การค้าสีเทา” ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศระหว่างจีนกับอาเซียน
และระหว่างกว่างซีกับไทย โดยเฉพาะผ่าน R9 (มุกดาหาร-ด่านโหยวอี้กวาน)
และ R12 (นครพนม-ด่านโหยวอี้กวาน) หรือที่ฝ่ายจีนเรียกรวมๆ
ว่า “ระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-สิงคโปร์”
ในประเด็นนี้ ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า อันที่จริงแล้ว ในปัจจุบัน
จีนอนุญาตการนำเข้าเฉพาะมังคุดที่ปลูกในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และพม่า 4 ประเทศเท่านั้น
แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่คือ
ชาวชายแดนจีนหรือเวียดนามใช้ช่องโหว่ตามตะเข็บชายแดนส่งมังคุด “เวียดนาม”เข้ามาตีตลาดจีนได้เป็นจำนวนมาก (ทั้งนี้
จริงๆ แล้ว คือ มังคุดเวียดนามดังกล่าว ก็คือมังคุดไทย
แต่ชาวชายแดนต้องลงทะเบียนเป็นมังคุดเวียดนาม เพื่อรับสิทธิการค้าชายแดน ทั้งๆ
ที่มังคุดเวียดนาม ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าประเทศจีน – หมายเหตุ หากอ่านประโยคนี้แล้วงง ขอให้อ่านซ้ำอีกครั้งครับ)
ห้า การผลักดันให้ใช้
R9 และ R12 เพื่อ “การค้าระหว่างประเทศ” น่าจะให้ประโยชน์ในระยะยาวแก่ไทยมากกว่าการขายต่อผ่าน “การค้าชายแดน” (ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน)
ดังนั้น ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ กล่าวคือ ภาคเอกชนต้องร่วมกันพัฒนาและผลักดันรูปแบบการค้าจาก “การค้าชายแดน” สู่ “การค้าข้ามแดน” ขณะที่ภาครัฐต้องเร่งเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาที่ภาคเอกชนต้องประสบ
(ราคาประเมินกลาง ระเบียบขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากร)
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาการค้าข้ามแดน
และเป็นแรงจูงใจของผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกอีกด้วย
หก การเปิดตัวของ ไฮกรีน เพื่อเป็นจุดนัดพบระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
ทำให้กว่างซีมีศักยภาพมากยิ่งขึ้นในการเป็นจุดกระจายผลไม้ไทยในตลาดจีน
โดยเฉพาะผลไม้ที่มาจากการขนส่งทางถนนที่จะสดและใหม่กว่าผลไม้ที่ขนส่งทางท่าเรือ
ขณะที่ในปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ประกอบการไทยใน ไฮกรีนเลยแม้แต่รายเดียว
ความท้าทาย จึงอยู่ที่ว่า ฝ่ายไทยเองจะหยิบฉวยและใช้ประโยชน์จากศักยภาพดังกล่าวอย่างไร?
Resource from :
9 Nov 2011
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/china-facts/detail.php?IBLOCK_ID=70&SECTION_ID=527&ELEMENT_ID=8965