วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เมืองชายแดน ตอนที่ 2 : เชียงของและสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 - the Connecting Points to R3A


           ตอนที่ 2 :
 เชียงของและสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 
the Connecting Points to R3A 



จุดเชื่อมต่อ หรือ The Connecting Points  ของเมืองชายแดนในบริบทของการพัฒนาพื้นที่ระหว่างประเทศ หมายถึง จุดที่เชื่่อมจากพื้นที่ที่แสดงเขตแดนที่เคยพึ่งพิงตนเองได้ในเขตแดนของประเทศหรืออาณาจักรที่มีอธิปไตยของตนเป็นจุดสุดท้าย  ที่จะทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อกับเขตแดนของอีกประเทศ โดยมีลักษณะพิเศษของเป้าหมายในการเชื่อมต่อเพื่อข้ามเขต  ไปผ่านดินแดนไปยังเขตแดนในประเทศอื่นๆ หรือไปแสวงหาทรัพยากร  สินค้าและบริการใดๆในเขตแดนนั้น บนเงื่อนไขที่ดีกว่าท้้งในแง่ของราคา  คุณภาพและความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย กับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง( Greater Mekong Subregion )  เมื่อพิจารณาจาก ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงทางเศรษฐกิจ ก็จะพบว่าโอกาสและความสำคัญของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นั้นมีศักยภาพสูง ในการเป็นเมืองชายแดนที่เป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.เมืองเชียงของเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญในการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ในที่นี้คือ ประเทศ สปป.ลาวและที่สำคัญเมืองเชียงของยังเป็นจุดผ่านแดนไปยังมณฑลยูนนาน  และมณฑลกวางสี ที่อยู่บนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีประชากรอยู่เกือบหนึ่งร้อยล้านคน  และเมืองเชียงของก็กำลังจะเปิดจุดผ่านแดนถาวร ณ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เข้าสู่ ประเทศ สปป.ลาว ตอนเหนือ ณ เมืองห้วยทราย  แขวงบ่อแก้วโดยตรงในปี 2556 นี้


2. เมืองเชียงของเป็นจุดกึ่งกลาง โดยประมาณของ เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายเหนือ-ใต้ ( North - South Economic Corridor ) ระหว่างนครคุนหมิง และกรุงเทพมหานคร ด้วยระยะทาง จากกรุงเทพมหานคร ถึง เชียงราย 829 กิโลเมตรและเชียงรายถึงเชียงของอีก 137 กิโลเมตร รวมเป็น 966 กิโลเมตร  และจากแขวงบ่อแก้ว ผ่านแขวงหลวงน้ำทา ด้วยระยะทาง 185 กิโลเมตรและต่อไปถึง เมืองเสี่ยวเมียนยาง ( Xiaomenyang ) บนจุดตัดระหว่างเส้นทาง R3A และ R3B และจากเมืองเสี่ยวเมียนยาง ถึงนครคุนหมิงอีก 713 กิโลเมตร รวมเป็นจากแขวงบ่อแก้วถึงนครคุนหมิง เป็นระยะทาง 898 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้นจากกรุงเทพมหานคร ถึงนครคุนหมิง เป็นระยะทาง 1,864 กิโลเมตร ดังนั้นเมืองเชียงของถือได้ว่าเป็นจุดพักกลางทางที่ลงตัวในการเดินทางระยะทางเกือบ 2,000 กิโลเมตรของผู้ที่จะเดินทางโดยใช้รถยนต์ระหว่างมหานครทั้งสองแห่ง จากการเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมงในประเทศไทย  และ14 ชั่วโมงภายในประเทศ สปป.ลาวและภายในมณฑลยูนนาน  ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน



3. เมืองเชียงของเป็นประตูผ่านแดนที่สำคัญ  ทั้งเป็นทางออกและทางเข้าในการเข้าสู่ตลาดและฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่มีกำลังแรงงานและกำลังซื้อในประเทศไทย และเป็นจุดผ่านไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อขนาดใหญ่ในมณฑลยูนนาน และอยู่จุดกึ่งกลางระหว่าง ตลาดขนาดใหญ่ท้้งสองตลาด (กรุงเทพมหานครและนครคุนหมิง)  ดังนั้นในกรณีนี้ ก็มีความเหมาะสมที่จะเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่จะตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน  ซึ่งมีแผนงาน โครงการฯที่จะตั้งขึ้นที่อำเภอเชียงของนี้  โดยผลผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะจัดตั้งขึ้นสามารถที่จะเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ทั้งสองแห่งนี้ได้ในระยะเวลา 12 - 14 ชั่วโมงเท่านั้น ทั้งนี้ ในเขตชายแดนลาว - จีน ได้มีโครงการเขตเศรษฐกิจความร่วมมือระหว่างประเทศ โมฺฮัน-โมติน(The Mohan and Motin Transnational Economic Corporation Zone ) ขึ้นที่พรมแดน บนเนื้อที่ 1,640 เฮคตาร์ บนสัญญา 90 ปี จากรัฐบาลทั้งสองประเทศ 



4. เมืองเชียงของเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเป็นระยะเวลาพอสมควร  ทำให้เมืองเชียงของมีความได้เปรียบเชิงแข่งขันในอุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  เนื่องจากมีบุคลากรที่มีองค์ความรุ้ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและการบริการและมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ สามารถพัฒนาทักษะระดัยสูงได้ไม่ยากนัก อีกทั้งน่าจะเป็นผู้บุกเบิกและผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายนี้

5. เมืองเชียงของ เป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางสู่มหานครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 46 ล้านคนและมีการเดินทางผ่านแดน เข้าสู่เขตแดนประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก  ไม่ว่าจะเป็นเข้าสู่ประเทศเมียนมาร์ ผ่านด่านRuili  ซึ่งมีจำนวนถึง 5.5 ล้านคน(ปี 2006)   เข้าสู่ประเทศเวียดนาม ผ่านด่านHekou ซึ่งมีจำนวน 3.5 ล้านคน (ปี 2006)  แต่การผ่านด่าน Mohan หรือ Boten เข้าสู่ประเทศ สปป.ลาวมีจำนวนเพียง 0.35 ล้านคน(ปี2006)  ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อเส้นทาง R3A สามารถเชื่อมโยงการเดินทางทางรถยนต์ให้เข้าถึงกันได้โดยสะดวกแล้ว  โอกาสที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากจากมณฑลยูนนานก็จะหลั่งไหล เข้าสู่ประเทศไทย ผ่านเส้นทางนี้ก็จะเป็นไปได้โดยง่าย

         ดังนั้นจากความได้เปรียบและมีแต้มต่อด้านทำเลที่ตั้ง  เชียงของจะสามารถพัฒนา จากอำเภอเล็กๆชายขอบประเทศไทย  ไปสู่เมืองสำคัญทางภูมิเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้หรือไม่  คงขึ้นอยู่การวางแผนพัฒนาและการเตรียมความพร้อมของภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในการทำให้ทุกองคาพยพของเชียงของ  สามารถทำงาน ประสาน สอดรับ เป็นในทิศทางเดียวกัน  หาไม่แล้ว ขบวนแห่งโอกาสที่มาเคาะประตู อำเภอเชียงของ  ก็จะออกจากสถานี  โดยที่คนเชียงของ ไม่ได้โดยสารไปด้วยเป็นแน่แท้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น