วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Thailand : ญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจลงทุนรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยทุกสายทาง

Thailand : ญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจลงทุนรถไฟความเร็วสูง
ในประเทศไทยทุกสายทาง


ญี่ปุ่นเกาะติดประมูลรถไฟความเร็วสูงไทย "ชัชชาติ" เผยยังมีโอกาสลุ้นสายเหนือ-ตะวันออก ย้ำบาร์เตอร์เทรดกับจีนแค่บางส่วน ไม่หวั่นม็อบดาวกระจาย มั่นใจไตรมาสแรกปี"57 ลั่นระฆังประมูล ด้าน สนข.เคาะแล้วที่ตั้งสถานีไฮสปีดเทรนเฟสแรก 4 สาย ดีเดย์ ธ.ค.นี้ยื่นอีไอเอสายอีสานกรุงเทพฯ-โคราช
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ทางประเทศญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจลงทุนรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยทุกสายทางเช่นกัน นอกจากประเทศจีนที่แสดงความสนใจก่อสร้างสายอีสานจากกรุงเทพฯ-หนองคายแล้ว โดยทางญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงหลายระบบ แต่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่มีข้อเสนอเรื่องบาร์เตอร์เทรดหรือการนำสินค้าเกษตรมาแลกโครงการเหมือนกับที่ประเทศจีนได้ยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาลไทย

ญี่ปุ่นยังมีโอกาสเสนอตัว 

"กรณีบาร์เตอร์เทรดทางญี่ปุนก็ยังไม่เสนอ เพราะในประเทศของเขามีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรเยอะ และก็ยืนยันว่าไม่ง่ายที่จะแลกสินค้าเกษตร ทั้งนี้ทั้งนั้นญี่ปุ่นก็ยังมีโอกาสที่จะเข้ามาเสนอตัวลงทุนโครงการ เพราะบาร์เตอร์เทรดแค่ส่วนเดียวเท่านั้น"

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จีนจะสร้างในเส้นทางเชื่อมจากหนองคายลงมาทางใต้ ส่วนญี่ปุ่นสร้างในเส้นทางสายเหนือกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ให้มาเชื่อมกับสายตะวันออกกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง นายชัชชาติกล่าวตอบว่า ต้องดูรูปแบบคือระบบของญี่ปุ่นและจีนอาจจะมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญจะต้องให้สามารถนำรถมาวิ่งบนรางเดียวกันได้

เคาะประมูลไตรมาส 1/57 

ล่าสุดขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานกลางระบบรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มคัดเลือกระบบในไตรมาส 3/2557 ว่าจะใช้ระบบประเทศใดจึงจะเหมาะสมกับประเทศไทย จากนั้นเริ่มขั้นตอนประมูลงานก่อสร้างงานโยธาต่อไป

นายชัชชาติกล่าวย้ำว่า การชุมนุมที่ขยายวงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากโครงการเป็นเรื่องของประเทศชาติไม่ใช่เรื่องทางการเมือง และเป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ารัฐบาลพรรคใดเข้ามาบริหารประเทศก็สามารถเดินหน้าโครงการต่อได้

"ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทอยู่ชั้นกรรมาธิการวุฒิสภา ยังไม่ทราบจะมีการแก้รายละเอียดอะไรหรือไม่ รอสรุปอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ ทางวุฒิสภาใช้เวลาพิจารณา 60 วัน สิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะแล้วเสร็จ ถ้าเป็นไปตามกรอบเวลานี้ไตรมาสแรกของปี"57 เริ่มประมูลโครงการที่พร้อมได้ทันที เช่น ขยายถนน 4 ช่องจราจร รถไฟทางคู่"

ลดสปีดความเร็วไประยอง 

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า สำหรับรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง เนื่องจากระยะทางไม่ยาวมากประมาณ 220 กิโลเมตร กำลังพิจารณาปรับสปีดความเร็วลงมาเท่ากับความเร็วของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากเดิมกำหนดไว้สูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งนี้อยู่ที่การพิจารณาของบริษัทที่ปรึกษา เนื่องจากสายนี้เริ่มศึกษารายละเอียดโครงการล่าช้ากว่าสายอื่น จึงยังไม่สามารถระบุชัดได้

"ระยะทางไม่ไกลมากใช้ความเร็วมากก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อระยะทางกับเวลาไม่แตกต่างกันถ้าหากความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงจากกรุงเทพฯไปพัทยาใช้เวลา 1 ชั่วโมง กับจากกรุงเทพฯไประยองใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที ถ้าไม่ต่างกันใช้เวลาชั่วโมงเศษ ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องวิ่ง 250 กิโลเมตรทุกสาย ต้องดูระยะทางและความคุ้มทุนด้วย ทุกอย่างต้องเป็นวิทยาศาสตร์"

ตอ.ใช้รางร่วมแอร์พอร์ตลิงก์

นายกนก เข็มนาค ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า เรื่องความเร็วรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ยังไม่มีสรุปชัดเจนจะใช้ความเร็วสูงสุดตามมาตรฐาน 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต้องพิจารณาทั้งระยะทางและผู้โดยสารประกอบด้วย เนื่องจากสายนี้ประชาชนจะมีทางเลือกในการเดินทางอยู่มาก เช่น มอเตอร์เวย์ ทางด่วนบางนา-ชลบุรี รถตู้ที่สามารถจอดป้ายได้สะดวก

"ปลายปี"57 ผลการศึกษาจะสรุปทั้งรูปแบบก่อสร้างและการเดินรถ การก่อสร้างจะใช้แนวเขตทางรถไฟเดิม เบื้องต้นใช้รางร่วมรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์จากกรุงเทพฯ, มักกะสัน, ลาดกระบัง วิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนต่อขยายลาดกระบัง, ฉะเชิงเทรา, พัทยา และระยองจะวิ่งด้วยควมเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง"

นายกนกกล่าวด้วยว่า ทั้งเส้นทางจะมีสถานีจอด 7 แห่ง คือ ถัดสถานีกลางบางซื่อมีสถานีมักกะสัน, ลาดกระบัง, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, พัทยา ปลายทางที่ระยอง คาดว่าเริ่มก่อสร้างในปี 2558 เปิดใช้บริการปี 2562 เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาทตามกรอบวงเงินในเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

Resource form :

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น